เลือกวัดตามจังหวัด

ระบบสืบค้นขั้นสูง

ระบบค้นและสืบหา

ปฏิทินกิจกรรม

« ธันวาคม 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2
3
4

แนะนำวัดที่น่าดู

วัดที่มีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุด

สารบัญเว็บไซต์

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง และผู้สนับสนุน

หัวข้อ "พิธีทอดกฐิน"
เมื่อ วันเสาร์ ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2556 เวลา 21:59:10, ผู้เข้าชม 8848 ท่าน

พิธีทอดกฐิน

มีตำนานเล่าว่าในครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางไป พอไปถึงเมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางไปเฝ้า ระหว่างทางฝนตกหนักน้ำท่วม หนทางเป็นโคลนตม แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝน ลุยฝน อย่างไรก็ไม่ย่อท้อ  ไปจนถึงกรุงสาวัตถี ครั้งได้เฝ้าฯ พระพุทธองค์ทรงมี

ปฏิสันถารถึงเรื่องจำพรรษาและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทูลถึงความตั้งใจที่จะมาเฝ้า และความยากลำบากในการเดินทางให้ทรงทราบ ครั้นพระองค์ตรัสรู้ถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลในลำดับนั้น พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น   พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และจะได้รับอานิสงส์จากพระวินัยบางข้อ ( กรานกฐิน เป็นพิธีฝ่ายภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน แล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ) นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตและได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก

เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ หลังจากวันออกพรรษาเป็นเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรือจำง่าย ๆ ว่าตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า " เทศกาลกฐิน " ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้

ความหมายคำว่า " กฐิน " มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ

          ๑ . กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้             กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร  ซึ่งอาจเรียกว่า ” สะดึง” ก็ได้นั้นเนื่องจากในครั้งพุทธกาลทำจีวรให้  มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า “จีวร” เป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่งว่า สบง ผ้าห่มว่า จีวร      ผ้าห่มซ้อนว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบ หรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆไป  การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้นคำว่า  กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน  จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า

          ๒ . กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้

          ๓ . กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทานคือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

          ๔ . กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความคิดเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยากไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรม  เรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔


ประเภทของกฐิน จะแยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑ . กฐินหลวง ๒ . กฐินราษฎร์

          ๑ . กฐินหลวง มีประวัติว่าเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมาประดิษฐานในประเทศไทย และประชาชนชาวไทยได้นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีของบ้านเมืองมาโดยลำดับ และพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองก็ได้ทรงรับเรื่องกฐินเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีดังกล่าว เป็นเหตุให้เรียกกันว่า กฐินหลวง ดังนั้น วัดใดก็ตามไม่ว่าวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ก็เรียกว่า กฐินหลวงทั้งสิ้น แต่สมัยต่อมากฐินหลวงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะการณ์ของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระกรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินตามควรแก่ฐานะ กฐินหลวงปัจจุบันจึงได้แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

                    ๑ . ๑ กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัด สำคัญ ๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังออกหมาย กำหนดการเป็นประจำปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ พระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง แต่มิได้เสด็จไปทั้ง ๑๖ วัดหลวง ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็น ผู้แทนพระองค์ไปถวาย วัดหลวง ๑๖ วัด คือ
           (๑) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม.
           (๒) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.
           (๓) วัดสุทัศน์เทพวราราม กทม.
           (๔) วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
           (๕) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม.
           (๖) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.
           (๗) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กทม.
           (๘) วัดเทพศิรินทราวาส กทม.
           (๙) วัดราชาธิวาส กทม.
           (๑๐) วัดมกุฎกษัตริยาราม กทม.
           (๑๑) วัดอรุณราชวราราม กทม.
           (๑๒) วัดราชโอรสาราม กทม.
           (๑๓) วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
           (๑๔) วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
           (๑๕) วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
           (๑๖) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

                    ๑ . ๒ กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวงและมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธีแต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
           * เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
           * ประชาชนมีความเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
           * ประชาชนในท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไป จะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดด้วย

                    ๑ . ๓ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปถวายยังวัดหลวง ที่นอกเหนือไปจากวัดสำคัญ ๑๖ วัดที่กำหนดไว้ เหตุที่มี กฐินพระราชทาน ก็เพราะปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลต่าง ๆ ที่สมควรขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้ ซึ่งกฐินดังกล่าวส่วนใหญ่ก็คือกฐินที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ นำไปถวายนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงวัดใดต้องติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามระเบียบเพื่อเป็นการจองไว้ก่อนด้วย

          ๒ . กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปถวายตามวัดต่าง ๆ ยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัดที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะของการทอด คือ

                    ๒ . ๑ กฐินหรือมหากฐิน เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะกล่าวคือ ท่านผู้ใดมี ศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็นำผ้ากฐินจัดเป็นองค์กฐิน อาจถวายของอื่น ๆ ไปพร้อมกับองค์ กฐินเรียกกันว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันมีปัจจัย ๔ คือ เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มีไตรจีวร บริขารอื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุสามเณรจะบริโภค นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพจะต้องมีผ้าห่มพระประธาน และเทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุ สวดพระปาติโมกข์ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๒๔ เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียน รูปจระเข้หรือสัตว์น้ำอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริดมน้ำ เมื่อทอดกฐิน เสร็จแล้ว และมีธงผ้าขาวเขียนเป็นรูปตะขาบ ปักไว้หน้าวัดสำหรับวัดที่ตั้งอยู่บนดอยไกลแม่น้ำ เพื่อแสดงให้ทราบว่า วัดนั้น ๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้
           อนึ่ง ยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐินถ้าเป็นเวลาเช้าจะมีการ ทำบุญถวายอาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณรในวัด

                    ๒ . ๒ จุลกฐิน เดิมเรียว่า กฐินแล่น เป็นกบินที่ต้องทำด้วยความเร่งรีบ เจ้าภาพผู้ที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ต้องมี พวกมาก มีกำลังมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การทำผ้าที่นำไปทอดตั้งแต่ต้น คือ เริ่มตั้งแต่นำฝ้าย ที่แก่ใช้ได้แล้ว แต่ยังอยู่ในฝักมีปริมาณให้พอแก่การที่จะทำเป็นผ้าจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ แล้วทำ พิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่าน แตกงอกออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝัก แก่ สุก แล้ว เก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เปียออกเป็นใจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วย น้ำข้าว ตากแห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือ แล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการ นำไปทอดเป็นผ้ากฐิน เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระองค์ ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือนำผ้านั้นมาขยำทุบซัก แล้วตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ รีดเสร็จเรียบร้อย แล้วนำไปถวายองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จแล้วจะมีการประชุม สงฆ์แจ้งให้ทราบ พระภิกษุทั้งหมดจะอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
           ในกรณีผู้ทอดจุลกฐินไม่มีกำลังมากพอ จะตัดตอนพิธีการในตอนต้น ๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่ม ด้วยการเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้วก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายองค์ครองเพื่อพินทุอธิษฐานต่อไป เหมือนวิธีที่กล่าวมาแล้ว อนึ่ง ข้อที่ควรกำหนดคือ จุลกฐินจะเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม จะต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มต้น ตั้งแต่เวลาเช้าถึงย่ำรุ่งของวันรุ่งขึ้นคือ ต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้ว กฐินนั้นไม่เป็นกฐินส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธานและเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธง จระเข้ ธงตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่อง กฐินหรือมหากฐิน

                    ๒ . ๓ กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน ไม่จำเป็นว่าใครบริจาคมากน้อย แต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้ง บริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้ ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น

                    ๒ . ๔ กฐินตกค้าง กฐินนี้มีชื่อเรียกอีกว่า กฐินตก กฐินโจร ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึง เหตุผลที่เกิดกฐินนี้ว่า "แต่ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดมาก ซึ่งอาจมีวัดตกค้าง ไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐิน ตามปกติในวันใกล้ ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้าย คือวันก่อนแรมค่ำหนึ่งของเดือน ๑๒ ทอดกฐินอย่างนี้ เรียกกันว่า กฐินตกค้าง หรือเรียกว่า กฐินตก บางถิ่นก็เรียก กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าไว้ให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกัน ได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญ อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา บางทีเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลาย ๆ วัด แต่ได้วัดทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียม เอาไปทอด ยังมีเหลืออยู่หรือทางวัดทอดไม่ได้ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่า เรียกกันว่า "ผ้าป่าแถมกฐิน"

           การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง
           ในกรณีที่วัดใดวัดหนึ่ง ไม่มีผู้จองกฐิน วิธีแก้ปัญหาคือ ใครก็ได้ท่มีศรัทธาและมีทุนไม่มาก ไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งนำมาถวาย ก็เรียกว่า ทอดกฐินแล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมี ประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวายก็จัดเป็นการทอดกฐิน ที่สมบูรณ์ตามพระวินัย เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายเพียงเท่านี้

การเตรียมการ
เมื่อได้หมายกำหนดการทอดกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพจองกฐิน จะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินเอาไว้ ได้แก่ ผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามแต่ศรัทธา (ถ้าจัดเต็มที่มัก มี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)
สำหรับทางวัดก็ต้องบอกแก่กรรมการวัดและญาติโยมผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ให้ทราบหมายกำหนดการ เพื่อที่จะได้มาร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งสถานที่ จัดเตรียมงาน และทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาทำการทอดกฐิน 
        ครั้นก่อนถึงวันทำพิธีทอดกฐิน ๑ วัน เรียกว่าวันสุกดิบ ทุกคนจะมาพร้อมกันที่วัด จัดการตกแต่งสถานที่ ปักธงชาติ ธงธรรมจักร และธงจระเข้ จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับถวายพระ และใช้ในพิธี 
 วันงาน  
พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนาและบริจาคร่วมบุญกุศล  กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล   หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพ แยกกันตั้งองค์กฐิน ณ บ้านของเจ้าภาพ ในวันรุ่งขึ้นแห่มาทอดรวมกันที่วัด ทั้งนี้เพราะในแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น บางที เจ้าภาพหลายรายยื่นความประสงค์จะจองกฐิน จึงต้องให้ร่วมกันทอดเป็นกฐินสามัคคี
        การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร  เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้ 
        ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ 
        ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ 
        ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้
        "อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา) 
        คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา 
        (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส) ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

คำถวายผ้ากฐิน
อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุโน ภันเต, สังโฆ, 
        อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฎิคคัณหาตุ, ปะฎิคคะเหตวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ, 
        กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, 
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ทุติยัมปี...(นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น) 
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ตะติยัมปี... (นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)  
        คำแปล ข้าแต่พระสงค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.

ธงจระเข้
ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ 
        1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงประดับองค์กฐินให้สวยงามรวมทั้งประดับบริเวณวัด จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว 
        2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน มีดังต่อไปนี้ 
            ๑.  จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ ถ้ากล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก (เล่ม ๕ หน้า ๒๕๘ ) ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต กล่าวว่าสงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นการปวารณา คือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้   การอุปสมบทและการสวดถอนจากอาบัติบางประการ(อัพภาร)จึงหมายถึงว่าจำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐิน ได้จะต้องมีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่หนังสืออธิบายชั้นหลังที่เรียกว่าอรรถกถา กล่าวว่า  ต้อง ๕ รูป ขึ้นไป เมื่อหนังสืออธิบายชั้นหลังขัดแย้งกับพระไตรปิฏกเป็นสำคัญ 
                ๒. คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์ที่อื่นมาสมทบ จะใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าถ้าพระสงฆ์วัดที่จะทอดกฐินนั้น มีจำนวนครบ ๔ รูปแล้ว    จะนำพระสงฆ์วัดอื่นมาสมทบก็สมทบได้ แต่จะอ้างสิทธิไม่ได้ ผู้มีสิทธิมีเฉพาะผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในวัดนั้นเท่านั้น การนำพระภิกษุมาจากวัดอื่น คงมีสิทธิเฉพาะที่ทายกจะถวายอะไรเป็นพิเศษเท่านั้นไม่มีสิทธิในการออกเสียงเรื่องจะถวายผ้าแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้ 
            ๓. กำหนดกาลที่จะทอดกฐินได้ ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัด คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน 
            ๔.  ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๗) คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง  ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระวินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติทำให้ถูกต้องเรียบร้อย

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

          การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติ ดังนั้น อานิสงส์ หรือผลดีจึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน 
- ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ        อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะมีดังนี้ 
            (๑)  ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกำหนดที่เรียกว่า  กาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้น ย่อมสำเร็จได้ 
            (๒) ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ 
            (๓) ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฎิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป 
            (๔) จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือก่อนทอด กำลังทอดและทอดแล้วที่เสื่อมใสศรัทธา และปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ 
            (๕) การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป

- ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานฐิน     อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้ 
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎก เล่ม ๕  หน้า ๑๓๖) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์ ๕ ประการ 
            (๑)  รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวรรคปาจิตตีย์ 
            (๒) ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ 
            (๓)  เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษไว้ได้ตามปรารถนา 
            (๔)  จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น 
            (๕)  ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย)


ข้อเสนอแนะ

          ความมุ่งหมายของการทอดกฐินเดิม คือ การบำเพ็ญกุศล ด้วยการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต แต่ปัจจุบันประเพณีกฐินได้มีการเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม และก่อให้เกิดความลำบากใจแก่ผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นการเน้นการสร้างถาวรวัตถุ จนทำให้หลายคนถูกเรี่ยไรหลายวัดหลายซองทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ เกิดความเอือมระอา เป็นบุญที่คนเบือนหน้าหนี ทั้งๆ ที่ “ กฐิน ” เป็นการสร้างบุญกุศลที่ดีและมีกำหนดเวลาแน่นอน ดังนั้น วัดและพุทธศาสนิกชนที่จะทำบุญกฐิน จึงควรเน้นไปยังความหมายเดิม แต่น่าจะปรับเปลี่ยนแนวคิดบางเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการบริจาคปัจจัย หากจะมี ก็ควรเพื่อการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม หรือจะสร้างใหม่ก็ให้พอเหมาะพอควร ไม่มุ่งความใหญ่โต หรูหรา ขณะเดียวกัน ก็อาจนำปัจจัยที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆต่อชุมชน และสังคมบ้าง เช่น ตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาพระ เณร หรือเด็กวัดที่ขาดแคลน เป็นต้น ข้อสำคัญ ควรตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออกไป ส่วนการฉลองหรือสมโภชองค์กฐิน ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน เพราะมิใช่วัตถุประสงค์ของการจัดกฐิน และที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การงดเลี้ยงสุราเมรัย และเล่นอบายมุขอื่นๆระหว่างการเดินทางหรือในระหว่างมีงาน สรุปได้ดังนี้

           ๑. พุทธศาสนิกชนควรทอดกฐินให้ถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฐิน ได้แก่ การบำเพ็ญกุศลด้วยการถวายผ้ากฐิน แก่ภิกษุซึ่งอยู่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต
           ๒. การรวบรวมทุนที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงวัดหรือสถานศึกษาในวัด ควรให้เป็นไปตามความ ศรัทธาของผู้บริจาค โดยมีเหตุผลอันสมควรเช่น ช่วยปฏิสังขรณ์วัดที่ทรุดโทรมให้มั่นคงถาวร สืบไป
           ๓. ในการเดินทางไปทอดกฐิน ณ วัดที่อยู่ห่างไกลซึ่งผู้จัดมักจะพ่วงวัตถุประสงค์ของการ ท่องเที่ยวไว้ด้วยนั้น ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่จะเดินทางไปเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้เพื่อความ ไม่ประมาท
           ๔. ควรงดเว้นการเลี้ยงสุราเมรัยในระหว่างเดินทางหรือระหว่างที่มีงานทอดกฐิน ทั้งนี้เพื่อให้การ บำเพ็ญกุศลเป็นไปด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย
           ๕. ควรงดการใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น โดยยึดถือการจัดให้ประหยัดเป็นหลักสำคัญ
           ๖. การฉลองหรือสมโภชกฐินก่อนทอดนั้น ควรทำเพียงเพื่อประโยชน์ของการนัดหมายให้พร้อม เพรียงกัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้มาร่วมงานเท่านั้น ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน อันมิใช่วัตถุประสงค์ของการทอดกฐิน ถ้ามีขบวนแห่เชิญผ้าพระกฐินไป ผู้เข้าขบวนควรแต่งกาย ให้เรียบร้อย ถ้ามีชบวนฟ้อนรำควรเลือกการแต่งกายชุดสุภาพเพื่อเป็นงานทางพระพุทธศาสนา
           ๗. การพิมพ์หนังสือแจกในงานกฐินนั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ไม่เป็นการบังคับ แต่ถ้ามีควรเลือกพิมพ์ หนังสือที่มีสาระประโยชน์
           ๘. ในการพิมพ์ใบบอกบุญหรือฎีกาเพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบญนั้น ไม่ควรพิมพ์ชื่อ บุคคลเป็นกรรมการโดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน

หากปฏิบัติได้ดังกล่าว เชื่อว่า การทำบุญทอดกฐินคงจะมีส่วนช่วยเสริมความงดงามทั้งศาสนสถาน และความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของพุทธศาสนิกชน สมกับ เป็นการทำบุญปีละครั้งที่มีคุณค่า ความหมายในทางพุทธศาสนาของเรา


การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเทศกาลกฐิน
 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดจนจัดกิจกรรมได้ถูกต้องไม่เบี่ยงเบน
 ๑. จัดประชุมสัมมนา/เสวนา
           - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน
 ๒. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์
           - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดถึง กิจกรรมที่เบี่ยงเบนออกไป
๓. ถ้ามีโอกาสได้จัดกิจกรรมในการทอดกฐิน
           - ควรจัดให้ถูกต้องตามประเพณีและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง สำหรับกิจกรรมที่เสริมประเพณี ทอดกฐินควรจัดให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและเอื้อต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


แหล่งที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (http://www.culture.go.th/thai/)