ข้อมูลทั่วไปของวัดวัดหนองบัว
- ชื่อวัด: วัดหนองบัว
- ประเภทวัด: วัดราษฎร์/พัทธสีมา
- นิกาย: มหานิกาย
- พระภิกษุ: 2 รูป
- สามเณร: 7 รูป
- ที่ตั้ง: เลขที่ 106 หมู่ 5 หนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รหัสไปษณีย์ 55140
- เนื้อที่: 4 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดหนองบัว
วัดหนองบัวเป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา จ. น่าน จากคำบอกเล่าไว้เดิมวัดหนองบัวตั้งอยู่ที่ริมหนองบัว (หนองน้ำประจำหมู่บ้าน) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่มีซากโบราณสถานเหลืออยู่เลย ต่อมาได้มีการย้ายวัดมาที่ปัจจุบันนี้ วัดหนองบัวสันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างขึ้น จึงทำให้วิหารหนองบัวแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยล้านนาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในสมัยนี้ และพระวิหารหนองบัวแห่งนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังแบบโบณาณที่สวยงามอีกด้วย
การสืบประวัติจากคำบอกเล่า ท่านพระครูมานิตย์บุญการ หรือ ครูบาปัญญา ผู้เป็นชาวบ้านหนองบัวโดยกำเนิดถือว่าเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งได้เล่าไว้ว่านายเทพผู้เป็นบิดาของท่านได้เป็นทหารของเจ้าอนันต๊ะยศ เจ้าผู้ครองนครน่านในขณะนั้น( เจ้าอนันต๊ะยศ ครองเมืองน่านเมื่อ พ.ศ.2395 –2434 )ต่อมานายเทพได้ติดตามทัพไปรบที่เมืองพวนซึ่งเป็นเมืองในแคว้นหลวงพระบาง หลังจัดการศึกเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพกลับเมืองน่าน นายเทพได้นำช่างเขียนลาวพวนชื่อว่า ทิดบัวผัน มาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวแห่งนี้ โดยมีพระภิกษุวัดหนองบัวชื่อ แสนพิจิตร และนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนเสร็จ
การสืบประวัติจากรายละเอียดของจิตรกรรม ภาพเรือกลไฟและรูปทหารชาวฝรั่งที่ผนังด้านทิศเหนือเป็นสิ่งที่สามารถ นำมาประเมินอายุของจิตรกรรมได้ ตามประวัติของเรือกลไฟว่าเรือกลไฟมีแหล่งกำเนิดในยุโรปและอเมริกา ในประเทศไทยมีหลักฐานในจดหมายเหตุหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเรือกลไฟใช้ตั้งแต่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่าช่างเขียนคงเห็นและนำแบบมาเขียนไว้ และยังมีรูปปืนยาวแบบฝรั่งคือมีดาบติดปลายปืนด้วย เดิมคนไทยรู้จักใช้ปืนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รูปแบบปืนมีปลายกระบอกยาวแต่ไม่ปรากฏว่ามีดาบปลายปืน ปืนที่ตัดดาบปลายปืนเป็นแบบฝรั่งที่นำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชการที่ 5 เป็นต้นมา จึงประเมินอายุจิตรกรรมว่าคงอยู่ในราวสมัย รัชการที่ 4 ถึง รัชการที่ 5
สถานะภาพของวัดในปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2215
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2471
สถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดวัดหนองบัว
วิหารมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 19 เมตร ลักษณะเป็นวิหารขนาดย่อม รูปทรงเตี้ยแจ้ โดยเฉพาะหลังคายาวคลุมต่ำมาก อาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำเป็นฐานปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าย่อมุมเป็นมุขโถง เนื้อที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าที่ เป็นมุขโถงทำเป็นบันได มีสิงห์ยืนเฝ้าที่ประตูข้างละ 1 ตัว บริเวณมุขโถงจะก่อเป็นผนังอิฐสอปูน ระดับเหนือ ผนังเป็นลูกกรงลูกมะหวดไม้กลึง ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสตลอดผนังชั้นซ้อนหลังคา ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นผนังทึบมีหน้าต่างเป็นบานเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 1 ช่อง เนื้อที่ใช้สอยส่วนที่ 2 เป็นตัวอาคารใหญ่ ผนังก่ออิฐแบบกว้างสลับยาว ขอบบนของผนังเป็นรูปลดระดับตามชั้นลดของหลังคา ผนังหุ้มกลองด้านหลัง เป็นผนังทึบตัน ส่วนผนังหุ้มกลองหน้ามีประตูอยู่ตรงกลาง 1 ช่อง ประตูนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่าง เนื้อที่มุขโถงกับเนื้อที่ภายในอาคารแสงสว่างจากภายนอก ส่วนใหญ่จะส่องผ่านทางมุขโถง ส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือ 7 ช่อง ทิศใต้ 6 ช่อง หน้าต่างเดิมมีขนาดเล็ก (เข้าใจว่า มีขนาดเท่ากับหน้าต่างที่ผนังด้านหน้า) ต่อมาได้เจาะขยาย เมื่อปีพุทธศักราช 2469 ที่ผนังด้านเหนือมีประตูอีกทางหนึ่ง อยู่ระหว่างกลางผนังประตูทางเข้าด้านข้างนี้ ทำเป็นมุขยื่นออกไป มีหลังคาชั้นเดียวที่ผนังด้านทิศใต้ ทำแท่นสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์เรียกว่า "ฐานสงฆ์" เป็นแท่นฐานปัทม์ก่ออิฐถือปูน หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาในประธานเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีหลังคาปีกนกลาดลงอีกชั้นละ 1 ตับ หลังคาที่คลุมมุขโถง และหลังคาอาคารลดชั้นต่ำกว่ากันมาก พื้นหลังคาทั้ง 2 ส่วน คลุมยาวลงต่ำมาก ใช้รูปสัตว์ประดับบนเครื่องไม้ทั้งหมด หน้าบันเป็นลายแกะไม้ ติดกระจกตามช่องที่อุดหน้าปีกนก เป็นลายเครือเถาลายนูนเด่นออกมา ช่องไฟระหว่างลายห่าง เน้นตัวลายมากกว่าปกติ ลักษณะอาคารเน้นทางเข้าด้านหน้า โดยสังเกตได้จากการทำขนาดประตูมุขโถงสูงใหญ่และเปิดโล่ง มีเชิงชายรูปกระจังประดับและใช้สิงห์คู่ประดับอยู่ข้างประตูวิหารแห่งนี้ นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะอย่างยิ่งและหาดูได้ยากในปัจจุบัน
• จิตรกรรมฝาผนัง
|
จิตรกรรมวัดหนองบัว จังหวัดน่าน
|
จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดหนองบัวแห่งนี้ นับว่าเป็นจิตรกรรมที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมมาก ภาพจิตรกรรม แบ่งเป็นสองส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : ภาพจิตรกรรมเรื่องจันทคาธชาดก เขียนบนฝาผนัง 3 ด้าน คือ ผนังหุ้ม กลองด้านหน้าผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ เริ่มตั้งแต่ผนังด้านทิศเหนือ มุมสุดข้างพระประธาน ดำเนินเรื่องเรื่อยมาถึงผนังหุ้มกลองด้านหน้า และวกไปจนสุดผนังด้านทิศใต้ที่มุมสุดข้างพระประธาน จันทคาธชาดกนี้ นับเป็นวรรณกรรมที่สำคัญเรือ่งหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นนิทานธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ใน ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกว่า "ค่าวธรรม" ซึ่งปรากฎในภาพเขียนที่วิหารวัดหนองบัวแห่งนี้ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ส่วนที่ 2 : ภาพพุทธประวัติที่เบื้องหลัง พระประธานเป็นอดีตของพระพุทธเจ้า และตอนบนสุดของฝาผนังตรงข้ามพระประธาน เป็นตอนพระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า สายที่ 1 ตึงเกินไปสายจึงขาด สายที่ 2 หย่อนเกินไปทำให้ไม่เกิดเสียง ส่วนสายที่ 3 ขึงตึงพอดี ทำให้เกิดเสียงไพเราะ พระพุทธเจ้าทรงได้สติจึงยึดถือ เป็นแนวปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจนบรรลุพระโพธิญาณ สมประสงค์ (ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนภาพบนฝาผนัง ได้ร่างรูปภาพลงในสมุดข่อยก่อนและสมุดข่อยเล่มนี้ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดหนองบัว)
เรื่องราวเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวนั้น ท่านพระครูมานิตบุญญการ(ครูบาปัญญา) ซึ่งเป็นชาวไทลื้อบ้านหนองบัว เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2437 มรณภาพ พ.ศ. 2524 พระคุณเจ้าท่านนี้เป็นผู้ที่รู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านหนองบัวนี้เป็นอย่างดียิ่ง โดยท่านได้เล่าให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานฟังต่อๆ มากันมาว่า นายเทพ ซึ่งเป็นบิดาของท่าน ตอนนั้น นายเทพอายุได้ 24 ปี ตรงกับ พ.ศ.2410 เล่าให้ท่านพระครูฟังว่า นายเทพได้สึกจากพระภิกษุ เจ้ารับราชการเป็นทหารของพญาอนันตยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน (ตรงกับรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้สถาปนาเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดช) ขณะนั้น นายเทพได้ติดตามกองทัพเมืองน่านไปรบกับเมืองพวน ซึ่งเป็นเมืองในปกครอง ของแคว้นหลวงพระบาง เมื่อยกกองทัพไปประชิดเมืองพวนแล้ว เจ้าเมืองพวนยอมอ่อนน้อมจึงเข้ายึดเมืองพวน หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว จึงยกกองทัพกลับ นายเทพได้ขอเอาช่างเขียนลาวพวนมาคนหนึ่งชื่อว่า ทิดบัวผัน (ทิด ภาษา ทางภาคเหนือ เรียกว่า หนาน หมายถึง คนที่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว) และได้นำทิดบัวผันติดตามกองทัพเมืองน่านมา โดยให้มาเป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดหนองบัว การเขียนครั้งนั้นยังมีพระภิกษุวัดหนองบัวรูปหนึ่ง ชื่อ แสนพิจิตร พร้อมกับนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนจนแล้วเสร็จ ใช้เวลาเขียนนานเท่าใดไม่ปรากฎหลักฐาน จากนั้นจึงได้อนุญาตให้ทิดบัวผันเดินทางกลับเมืองพวน แคว้นหลวงพระบางตามเดิม
|
วัดหนองบัว จังหวัดน่าน
|
ความน่าสนใจภายในวัดหนองบัว
|
ชาวไทลื้อหมู่บ้านหนองบัว จังหวัดน่าน
|
ของฝากจากบ้านหนองบัว
• โด่งดังไกยี : สาหร่ายแม่น้ำน่าน
ไก เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวไทลื้อมานานนับร้อยปี เพราะเป็นวัตถุดิบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในแม่น้ำน่านที่ใสสะอาด สาหร่ายไก เป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับก้อนหินที่พื้นท้องน้ำมีลักษณะเป็นเส้นสายยาว สีเขียวสด อาจจะยาวถึง 1-2 เมตร เมื่อเจริญเต็มที่จะมองเห็นเป็นเส้นสายสีเขียวเต็มท้องน้ำ มักเจริญอยู่ในบริเวณที่เป็นหาดหิน และกรวดที่มีความลึกระหว่าง 30-50 เซนติเมตร คุณภาพน้ำอยู่ในระดับดีถึงปานกลาง น้ำใสและไหลเอื่อยๆ จึงพบในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง พฤษภาคมของทุกปี จะพบมากที่สุดบริเวณ อำเภอท่าวังผา
คนไทลื้อสมัยรุ่นปู่ย่าตายาย นำไกมาปรุงอาหาร คือ การทำห่อนึ่งไก(ห่อหมกไก) ไกยี (สาหร่ายเลิศรส) และคั่วไกเท่านั้น สืบทอดกันมาเรื่อยๆ ซึ่งไกนั้นถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและอายุยืน ต่อมากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองบัว จึงเกิดความคิดที่จะนำมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายหลายอย่าง เช่น ไกแผ่น(สาหร่ายแผ่นทรงเครื่อง) ข้าวตังหน้าไก น้ำพริกไก คุ้กกี้ไก ฯลฯ เป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัวและอนุรักษ์อาหารพื้นเมืองให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ประกอบกับไก เป็นสาหร่ายที่ให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่่ร่างกาย โดยมีปริมาณโปรตีนสูงใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ นอกจากนั้นยังมีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 4 เท่า มีวิตาบินบี 1 และ บี2 มากกว่าผัก มีวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยส่งเสริมความจำ และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง มีธาตุเหล็ก และแคลเซียมช่วยบำรุงสมอง กระดูกและฟันให้แข็งแรง มีเส้นใยอาหารสูงจึงป้องกันการท้องผูก และยังเป็นอาหารที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้บริโภค ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่าการบริโภคสาหร่ายไกจะทำให้ผมดกดำ ไม่หงอกได้ง่ายและชะลอความแก่
• ของดีผ้าทอ : ผ้าทอลายน้ำไหล ผ้าทอไทยลื้อ
หากจะพูดถึงผ้าทอแล้ว นับว่าชาวไทลื้อเป็นแม่แบบของการทอผ้าได้ทีเดียว เพราะการทอผ้าเป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่มากับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ ซึ่งได้สืบทอดวัฒนธรรมของพวกเขามาจากบรรพบุรุษ เมื่อครั้งยังอยู่ที่ดินแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน หลังจากอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนล้านนาของไทยแล้ว ยังได้นำเอาวัฒนธรรมของพวกเขาติดตามมาด้วย
บ้านหนองบัว หมู่บ้านของชาวไทลื้อเชื้อสายเมืองล้าแห่งนี้ก็เช่นกัน มีการเีิริ่มทอผ้าเริ่มต้นมาไม่น้อยกว่า 150 ปีมาแล้ว คือ เริ่มตั้งแต่ตอนที่อพยพมาอยู่ใหม่ๆ เมื่อทอแล้วก็นำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มบ้าง ผ้าซิ่นบ้าง ผ้าปูที่นอนบ้าง หรือย่ามสะพายบ้าง ตามความจำเป็น โดยทอเป็นลวดลายต่างๆ อย่างวิจิตรงดงาม ตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ หลักฐานแห่งอดีตเหล่านี้หาดูได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดหนองบัว เครื่องแต่งตัวของละครนั้น ได้แสดงออกถึงศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อโดยแท้ ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวไทลื้อในอดีตนั้น ลูกผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จะได้รับการถ่ายทอดวิธีการทอผ้าจาก รุ่นยาย รุ่นแม่ ให้ทอผ้าเป็นกันหมดทุกคน ผ้าทอบ้านหนองบัว ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ด้วยความริเิริ่มจาก ป้าจันทร์สม พรหมปัญญา ซึ่งได้ใช้เวลาว่างคิดรื้อฟื้นธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีของบรรพบุรุษ โดยการนำเอากี่ทอผ้าพื้นเมืองที่มีอยู่แล้ว ออกมาปัดฝุ่นริเริ่มทอผ้าปูที่นอนเป็นลายยกมุข (ผ้าเติ้ม) เพื่อใช้ในครอบครัว ในระยะต่อมาผ้าจะทอเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เช่น ลายน้ำไหล ลายสายฝน ลายลื้อ ลายม่าน
ปัจจุบันป้าจันทร์สม พรหมปัญญา เป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองบัว มีการปรับปรุงกิจการทอผ้าและมีการกระจายกี่กระตุก และกี่พื้นเมืองไปตามครัวเรือนต่างๆ รวมกันเกือบร้อยหลังทีเดียว
ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558
พระครูวาปีปทุมพิทักษ์ สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดหนองบัว
พระครูวาปีปทุมพิทักษ์ สิริภทฺโท
ปัจจุบันอายุ 43 ปี
บวชมาแล้ว 22 พรรษา
มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น เจ้าอาวาสชั้นเอก
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดหนองบัว และยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ เจ้าคณะอำเภอ
ประวัติด้านการศึกษาของพระครูวาปีปทุมพิทักษ์ สิริภทฺโท
พระครูวาปีปทุมพิทักษ์ สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดหนองบัว
จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษาวิทยาลัยสงฆ์นครน่านมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.
อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว
พระครูบาหลวงสุนันต๊ะ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระครูบาอภิวงษ์ อภิวํโส |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
พระครูศีลคุณธาดา (จันทร์ สุริโย) |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ถึงปี พ.ศ.2510 |
พระอธิการเทพวงศ์ สทฺธาทิโก |
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ถึงปี พ.ศ.2532 |
พระครูวาปีปทุมพิทักษ์ |
ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่นอน |
ภาษาไทลื้อ (ภาษา) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
เป็นภาษาประจำเผ่าชนชาวไทลื้อ
ไก (ภูมิปัญญาท้องถิ่น/ภูมิปัญญาชาวบ้าน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
เป็นสาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นที่แม่น้ำน่านเท่านั้น นำมาแปรรูปเป็น สาหร่ายอบแผ่น เป็นสินค้าโอท็อปและสร้างรายได้ให้ ชนชาวไทลื้อ
การเล่นสะล้อ ซอ ซีง กลอง (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
มีการดีด สี ตี เป่า เครื่องดนตรีพื้นบ้าน อยู่ลานหน้าวัด เป็นเครื่องดนตรีของชนชาวไทลื้อเอง ผลิตเอง
ดนตรีพื้นบ้าน (ศิลปิน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
นายผัด เทพเสน ที่อยู่ 83 หมู่ 5 บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นประธานกลุ่มดนตรีพื้นบ้าน คณะดอกบัวบาน เล่นเครื่องดนตรี เช่น พิณ สะล้อ ขลุ่ย
ดนตรีพื้นบ้าน (ศิลปิน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
นายคำซอน อินต๊ะแสน ที่อยู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีความสามารถเล่นดนตรีพื้นบ้าน ปีไทลื้อ ดีดพิณ เป่าขลุ่ย สีสะล้อ
ชาติพันธุ์ (วิถีชีวิต) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
ไทลื้อ อพยพมาจากเมืองล้า แคว้นสิบสองปันนา มลฑลยูนาน ประเทศสาธารณรับประชาชนจีน
ไทลื้อ (ภาษา) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
ประเพณีประจำปี (ประเพณี / พีธีกรรม) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
ผ้าทอไทลื้อ (วิถีชีวิต) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
ผ้าทอมือลายไทลื้อ โดยกลุ่มสตรีทอผ้า
การจักสาน (ภูมิปัญญาท้องถิ่น/ภูมิปัญญาชาวบ้าน) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
ทำไม้กวาดดอกหญ้า
ดนตรีพื้นบ้าน (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
คณะดอกบัวบาน และดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านหนองบัว
ฟ้อนรำ (ศิลปการแสดงและดนตรี) - ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมวัดหนองบัว
การฟ้อนรำไทลื้อ
การจัดการศึกษาภายในวัดหนองบัว
การจัดการศึกษาภายในวัดหนองบัวนั้น จะประกอบไปด้วย
- แหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณสถาน